เหาเกิดจากอะไร ยาฆ่าเหาและวิธีกำจัดเหาอย่างได้ผล!!!

เหาคืออะไร
เหา (Louse) เป็นแมลงตัวเล็กๆที่เป็นปรสิต ซึ่งพบมากกว่า 3,000 ชนิดด้วยกัน แต่ละชนิดนั้นมักจะอาศัยอยู่บนร่างกายของคนหรือสัตว์ และดูดกินเลือดเป็นอาหาร โดยเหาที่เป็นปรสิตอาศัยอยู่บนร่างกายของคนนั้นแบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน คือ เหาที่ลำตัว เหาที่อวัยวะเพศ หรืออาจะเรียกได้ว่า โลน และเหาที่ศีรษะ ซึ่งเป็นเหาที่พบเป็นส่วนใหญ่ในร่างกายของคน
ตัวเหา
ตัวเหา (ภาพขยาย)
โรคเหาคืออะไร
โรคเหา (Pediculosis capitis) เป็นโรคเก่าแก่ที่มีมาแต่โบราณ เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการคัน สร้างความรำคาญใจให้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญสามารถแพร่กระจายติดต่อสู่คนที่ใกล้ชิดได้อย่างรวดเร็ว หรือแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ โดยผ่านทางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ
เหาเกิดจากอะไร
โรคเหาเกิดจากเหาที่เป็นเชื้อปรสิต ชื่อว่า Pediculus humanus โดยเหาชนิดนี้มักจะอาศัยอยู่บริเวณหนังศีรษะ เส้นผมและขน มีลักษณะเป็นแมลงขนาดเล็กสีเทาหรือขาว มีขาคู่ 3 คู่ ตัวยาวรีประมาณ 3 – 4 มิลลิเมตร โดยเหาตัวเมียนั้นจะมีอายุประมาณ 1 เดือน มักจะวางไข่บริเวณเส้นผม และออกไข่มากครั้งละ 7 – 10 ฟองต่อวัน โดยไข่เหาจะมีลักษณะเป็นตุ่มสีขาว และใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 1 สัปดาห์ เหาเป็นสัตว์ที่ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยการดูดเลือดเป็นอาหารโดยเฉพาะในเวลากลางคืน หลายคนมักเข้าใจคิดว่าเหาติดต่อกันได้โดยการกระโดด แต่แท้ที่จริงแล้วนั้นเหาไม่สามารถกระโดดได้ แต่ติดต่อกันผ่านทางความใกล้ชิด และการใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ ร่วมกัน เช่น หวี หมวก ตุ๊กตา เป็นต้น
ส่วนใหญ่โรคเหาจะพบในเด็กวัยเรียน และมักจะเป็นเด็กเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเด็กผู้หญิงชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มและมีความใกล้ชิดกันมาก รวมทั้งชอบใช้ของร่วมกันอีกด้วย จึงง่ายต่อการติดต่อแพร่กระจายสู่กัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นเหา
โรคเหาจะมีอาการคันที่ศีรษะ ถ้าเกามากๆอาจจะเกิดเป็นสะเก็ดแห้งๆหรือเกิดหนองขึ้นได้ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการระคายเคืองน้ำลายของเหา เวลากัดที่บริเวณหนังศีรษะเพื่อดูดกินเลือด หลังจากนั้นจะเกิดเป็นตุ่มนูนแดง และจะเกิดอาการคันเป็นอย่างมากในเวลากลางคืน แต่บางคนก็ไม่มีอาการ นอกจากนี้จะพบไข่เหา และตัวเหาได้บริเวณหนังศีรษะ ด้วยการมองหาด้วยตาเปล่า หรืออาจจะใช้หวีเสนียดสางผมก็ได้ ซึ่งบริเวณหลังหู และท้ายทอยเป็นบริเวณที่มักจะพบไข่เหาได้เป็นส่วนใหญ่
ตัวเหาและไข่เหา
ตัวเหาและไข่เหา
อันตรายจากโรคเหา
แม้ว่าโรคเหาจะไม่มีอันตรายมาก แต่ก็สร้างความรำคาญ รบกวนจิตใจและการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ถ้าเกาบ่อยๆจะทำให้หนังศีรษะเป็นแผล และเกิดการติดเชื้อตามมาได้ และถ้าเป็นในเด็กจะทำให้เด็กนอนหลับไม่สนิท เนื่องจากอาการคันมักจะเกิดขึ้นบ่อยในช่วงเวลากลางคืน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ช้าลงกว่าปกติได้
วิธีการรักษาเหา
การรักษาโรคเหานั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งแต่ละวิธีนั้นจะใช้เวลาและวิธีในการรักษาแตกต่างกันออกไป ดังนี้
1. หวีเสนียด ใช้สางผมจะทำให้ไข่เหา และตัวเหาหลุดออกมาจากศีรษะได้
2. การหมั่นสระผมเป็นประจำ เนื่องจากในยาสระสมจะมีสารเคมีหลายชนิดที่สามารถกำจัดเหาได้
3. การใช้ยารักษา มีให้เลือกหลากหลายประเภทด้วยกัน ได้แก่
- ยาปฏิชีวนะ ใช้ในกรณีที่เกิดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนขึ้นมา
- การรับประทานยากลุ่มแอนติฮีสตามีน เพื่อช่วยระงับอาการคัน
- การใช้ยาทากำจัดเหา
ซึ่งการใช้ยาในการรักษาโรคเหานั้น ต้องได้รับคำปรึกษาและการแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อน โดยไม่ควรซื้อมาใช้เอง เนื่องจากยาบางตัวมีฤทธิ์รุนแรง อาจก่อให้เกิดอาการระคายเคืองและเป็นอันตรายได้
4. การรักษาด้วยสมุนไพร โดยการเลือกใช้สมุนไพรไทยที่มีฤทธิ์ในการกำจัดเหา ได้แก่
- การนำใบน้อยหน่ามาโขลกให้ละเอียด จากนั้นผสมน้ำเปล่า แล้วชโลมให้ทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วจึงล้างออกและใช้หวีเสนียดสางผม จะทำให้ไข่เหา และตัวเหาหลุดจากศีรษะได้
- การนำผลมะกรูดไปเผาไฟให้สุก จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาคลึง จากนั้นผ่าครึ่งและบีบเอาแต่น้ำ ชโลมให้ทั่วศีรษะ หลังจากนั้นใช้หวีเสนียดสางผม จะทำให้ไข่เหาและตัวเหาหลุดจากศีรษะได้
- การนำใบสะเดาแก่มาโขลกให้ละเอียด จากนั้นผสมกับน้ำเปล่าเล็กน้อย นำมาชโลมให้ทั่วศีรษะ ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งแล้วจึงล้างออก จากนั้นจึงสระผมตามปกติ
- การนำผลมะตูมสุกมาผ่าครึ่ง แล้วนำยางจากผลมาชโลมให้ทั่วศีรษะ จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งและล้างออก แล้วจึงใช้หวีสางผม
- การนำลูกบวบขมมาแกะเปลือกออก แล้วจึงนำน้ำในลูกบวบขมมาชโลมให้ทั่วศีรษะ ทิ้งไว้ประมาณ 2 – 3 นาทีแล้วจึงล้างออก และใช้หวีเสนียดสางผมตามอีกครั้ง
5. การหมักผม ด้วยการใช้ประโยชน์จากของใช้ภายในครัวเรือน โดยการนำน้ำส้มสายชูผสมกันน้ำเปล่า แล้วจึงนำมาชโลมให้ทั่วบริเวณศีรษะ ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที แล้วจึงนำหวีเสนียดมาสางผม จะทำให้ไข่เหาและตัวเหาหลุดจากศีรษะได้
ยากำจัดเหา
ตัวอย่างยากำจัดเหา
วิธีการป้องกันเหาและโรคเหา
โรคเหาเป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่ควรสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคเหา ที่สำคัญต้องไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ของเล่น หวี ผ้าคลุมผม ปลอกหมอน ผ้าปูที่นอน และผ้าเช็ดตัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกายโดยการอาบน้ำสระผมเป็นประจำทุกวัน รวมถึงทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ด้วยการซักทำความสะอาด หรือนำสิ่งของเครื่องใช้แช่ในน้ำร้อนประมาณ 5 นาที จะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคเหาได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าเหาจะไม่มีอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพมากมายนัก แต่ก็สร้างความรำคาญใจ รบกวนการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถติดต่อสู่กันได้ภายในเวลาอันรวดเร็วอีกด้วย ดังนั้นจึงควรรักษาความสะอาดของร่างกายและรู้จักวิธีป้องกันตัวเองให้ห่างไกลโรคเหา เพื่อสุขภาพอนามัยที่ดีของชีวิต
Share on Google Plus

About Unknown

    Blogger Comment
    Facebook Comment